====== สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับ รางวัลโครงการที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ====== SAICM (Strategic Approach to International Chemicals Management ) หน่วยงานภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Project: : UNEP) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการประชุม Earth Summit ได้จัดการประชุม Asia-Pacific Regional Meeting on SAICM ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยการบริหารจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความคืบหน้า และพัฒนายุทธศาสตร์การดำเนินการระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผน ปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) กล่าวคือ ภายในปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกควรจะมีการใช้ และการผลิตสารเคมีที่ไม่ก่อให้ เกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม {{:th:announcement:news:2014_news:2014_04_11_outstanding:001.jpg|}} {{:th:announcement:news:2014_news:2014_04_11_outstanding:002.jpg|}} สืบเนื่องจากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ และทรงเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทย ร่วมการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Environment and Development : UNCED) หรือที่เรียกว่า “Earth Summit” ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2535 แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกยอมรับในเวทีประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น และผลจากการประชุมได้รับรองเอกสารปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) เป็นหลักการเกี่ยวกับสิทธิ และความรับผิดชอบของสหประชาชาติในการดำเนินงาน พัฒนา เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) เป็นแผนแม่บทของโลกในการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม {{:th:announcement:news:2014_news:2014_04_11_outstanding:003.jpg|}} จากการประชุมดังกล่าว และการประชุมต่อเนื่องขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน Rio + 10 (United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) ที่ประเทศ อัฟริกาใต้ ในปี พ.ศ.2545 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ได้พระราชทานนโยบายแก่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการตามพระนโยบายอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ขณะเดียวกัน เพื่อให้มีการพัฒนาบุคลากรในวงกว้าง และเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางไกล (electronic Distance Learning Tool : eDLT) ด้านการประเมินความเสี่ยงจากสารเคมีและการบริหารจัดการ ภายใต้การสนับสนุน ของยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management : SAICM) โดยร่วมมือกับโครงการระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยทางด้านสารเคมี (International Programme on Chemical Safety : IPCS) ขององค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัย อูเทร็ค แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยออตตาวา แห่งประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก สื่อการเรียนการสอนทางไกลนี้ ได้ทรงเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 และมีการประกาศให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็น WHO Regional Training Centre for Chemical Safety อีกด้วย {{:th:announcement:news:2014_news:2014_04_11_outstanding:004.jpg|}} {{:th:announcement:news:2014_news:2014_04_11_outstanding:005.jpg|}} สื่อการเรียนการสอนทางไกลนี้ ได้มีการทดลองใช้จากผู้ร่วมฝึกอบรม 144 คน จาก 19 ประเทศ และในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยการบริหารจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ (Strategic Approach to International Chemicals Management - SAICM) ครั้งที่ 4 นี้ ได้มีการคัดเลือกโครงการที่ SAICM สนับสนุนให้ได้รับรางวัลโครงการที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการลงคะแนนของผู้ที่เข้าร่วมประชุม SAICM Most Outstanding Quick Start Programme Project ซึ่งโครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ทางไกล (electronic Distance Learning Tool : eDLT) ด้านการประเมินความเสี่ยงจากสารเคมี และการบริหาร จัดการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลโครงการที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศ และเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสุขอนามัยของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก