===== ทรงเสริมสร้างพัฒนาองค์ความรู้ และเครือข่ายงานวิจัยสาขาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย ===== [{{:th:announcement:news:2014_news:2014_10_13_ract02:2014_11_24_scoopjicceoca-4:01.jpg?400|}}]**ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัย การแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านอินทรีย์เคมี ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืนในอนาคต จึงทรงมีพระดำริให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 4th Junior International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia - JICCEOCA-4 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2557** โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากประเทศสมาชิกของ Asian Core Program (ACP) : Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ความก้าวหน้าและวิทยาการที่นำสมัย ตลอดจนร่วมฟังการบรรยายจากนักวิจัย และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยและมิตรภาพอันดีระหว่างนักศึกษาด้วยกัน รวมทั้งระหว่างนักศึกษากับนักวิจัยและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนางานวิจัย การเรียนการสอน ตลอดจนการประยุกต์ใช้สาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวม\\ [{{ :th:announcement:news:2014_news:2014_10_13_ract02:2014_11_24_scoopjicceoca-4:02.jpg?340|}}]การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาวิชาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย (Asian Core Program (ACP) : Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia) ซึ่งเป็นโครงการวิชาการเสริมสร้าง เครือข่ายการวิจัยในระดับนานาชาติ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยอาศัยเครือข่ายที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ สมาชิก จำนวน 7 ประเทศ และ 1 เขตการปกครองพิเศษ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นรากฐานและใช้การจัดประชุมประจำปีเป็นสื่อกลางที่สำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่น มีคุณภาพยอดเยี่ยมจากนักวิจัยและคณาจารย์ในแต่ละประเทศสมาชิก เป็นการยกระดับการทำงานวิจัยให้มีความตื่นตัวทันต่อความก้าวหน้า องค์ความรู้ รวมทั้งวิทยาการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้านอินทรีย์เคมีและสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชีย สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่างๆ ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม\\ จากความสำเร็จของโครงการวิชาการดังกล่าว จึงมีจำนวนนักวิจัยและคณาจารย์เข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เกิดการสร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็ง แต่ละประเทศสมาชิกเห็นความสำคัญในการกระตุ้นการมีส่วนร่วม และการบ่มเพาะนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีผลงานวิจัยดีเยี่ยมให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมนานาชาติประจำปี ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 -2556 มีการจัดประชุมฯ มาแล้วรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประเทศมาเลเซีย และ ญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยแต่ละประเทศสมาชิก จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ\\ [{{:th:announcement:news:2014_news:2014_10_13_ract02:2014_11_24_scoopjicceoca-4:03.jpg?290|}}]สำหรับการประชุมในประเทศไทยครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความตื่นตัว การมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายวิจัยของนักวิจัยและคณาจารย์ในสาขาอินทรีย์เคมีจากสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพงานวิจัยภายในประเทศ ให้มีศักยภาพทัดเทียมคุณภาพงานวิจัยในต่างประเทศ อีกด้วย\\