====== ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ ดำเนินการเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 8 ====== {{:th:announcement:news:2016_news:2016_07_01:001.png?300|}}\\ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดให้ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหาร ดำเนินการเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อม : ความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งแวดล้อม สารเคมี และเชื้อที่ก่อโรค” (Environmental Health: Inter-linkages among the Environment, Chemicals and Infectious Agents) เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส มหามงคล เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ\\ {{:th:announcement:news:2016_news:2016_10_21:02.jpg|}}\\ {{ :th:announcement:news:2016_news:2016_10_21:03.jpg|}}เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ทรงพระกรุณาโปรดให้ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหาร ดำเนินการเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 8 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งสาระสำคัญ ของการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานพร้อมระดมความคิดเห็นจากคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมฯ ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี\\ {{:th:announcement:news:2016_news:2016_10_21:04.jpg |}}การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อม : ความเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งแวดล้อม สารเคมี และเชื้อที่ก่อโรค” (Environmental Health: Inter-linkages among the Environment, Chemicals and Infectious Agents) ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าผลงานวิจัย ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมี และเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการสาธารณสุข การแพทย์ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประเทศ และของโลกต่อไป\\ ระหว่างการประชุมฯ จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัย ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม สารเคมีและเชื้อที่ก่อโรค ซึ่งความรู้เหล่านี้ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้ป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการสาขาต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้เปิดรับความก้าวหน้าในแวดวงวิทยาศาสตร์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติโดยรวมต่อไป\\ รูปแบบการประชุมประกอบด้วยปาฐกถาพิเศษ (Keynote lecture) การบรรยายพิเศษ (Plenary sessions) การสัมมนากลุ่ม (symposium) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และการประชุมแบบอภิปรายโต๊ะกลม (Round table discussion) โดยการแสดงปาฐกถาพิเศษนั้น ได้รับเกียรติจาก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก คือ ศาสตราจารย์ แอรอน ชิแชนโนเวอร์ (Professor Aaron Ciechanover) จากศูนย์วิจัยมะเร็งและชีววิทยาหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเทคเนียน-อิสราเอล เมืองไฮฟา ประเทศอิสราเอล แสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เหตุใดโปรตีนของเราจึงต้องถูกทำลาย เพื่อให้คนเรามีชีวิตอยู่ ? ระบบการสลายโปรตีนยูบิควิติน จากกลไกพื้นฐานผ่านสู่การเกิดโรคและแนวทางการพัฒนายา (Why our proteins have to die, so we shall live? The Ubiquitin proteolytic system – from basic mechanisms thru human diseases and on to drug development )” ในครั้งนี้ด้วย\\ {{ :th:announcement:news:2016_news:2016_10_21:05.jpg|}}ศาสตราจารย์แอรอน ชิแชนโนเวอร์ (Professor Aaron Ciechanover) เป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของประเทศอิสราเอล เป็นผู้ที่มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ ด้วยผลงานการค้นพบระบบยูบิควิตินซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสลายโปรตีนในเซลล์ทำให้ ศาสตราจารย์แอรอน ชิแชนโนเวอร์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ระบบยูบิควิตินเป็นระบบสำคัญ ที่ควบคุมคุณภาพการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตโดยควบคุมการสลายโปรตีนภายในเซลล์ ความผิดปกติของระบบนี้ จะส่งผลให้เกิดการสะสมของโปรตีนภายในเซลล์ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคบางชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งและโรคความเสื่อมของระบบประสาท ได้แก่ พาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ ซึ่งผลงานวิจัยนี้มีผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์และการพัฒนายา เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ไว้ได้อีกมาก\\ นอกจากนั้น ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากนานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศระดับนานาชาติจาก 16 ประเทศทั่วโลกร่วมบรรยาย โดยมีผู้ตอบรับเข้าร่วมกว่า600 คนจาก 30 ประเทศ นับเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสได้รับข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยง งานวิจัย สิ่งแวดล้อมเข้ากับสารเคมีที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และเชื้อก่อโรค อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ การแพทย์และการสาธารสุขในการวิจัย การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปของการบรรยาย และโปสเตอร์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยออกสู่สาธารณะอีกด้วย\\ การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พุทธศักราช 2530 โดยเป็น การประชุมเชิงวิชาการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นประจำทุก 3-5 ปี เพื่อเฉลิมฉลองในพระราชวโรกาส สำคัญต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และยังเป็นเวทีระดับ นานาชาติให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อแสวงหาความร่วมมือและเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับสากลอีกด้วย\\ //ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน\\ 21 ตุลาคม 2559// \\ ----