====== องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ เสด็จเยือนประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7-19 มกราคม 2557 ====== **ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา** เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแคนาดา โดยที่มีคณาจารย์และศิษย์เก่าได้รับรางวัลโนเบลแล้ว 7 คน มีคณะระบบแผ่นดินและอาหาร ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานโดดเด่น เป็นศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไวน์ และการวิจัยด้านการใช้สารจากพืชเพื่อประโยชน์ทางโภชนาการ [{{:th:president:news:2014_news:2014_01_07_canada:001.jpg|**ศาสตราจารย์ เมอร์เรย์ ไอส์แมน คณบดีประจำคณะระบบแผ่นดินและอาหาร นำเสนอผลงานวิจัย และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในการพัฒนาสารฆ่าแมลงจากพืช**}}] [{{:th:president:news:2014_news:2014_01_07_canada:002.jpg|**ทรงบรรยายการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สำคัญของหน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ และทรงรับฟังการบรรยายทางวิชาการ**}}]ในการนี้ ทรงรับฟังการบรรยายทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โอกาสนี้ ทรงกล่าวถึงการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สำคัญของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย การดำเนินการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในด้านพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ความรู้และการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย นอกจากนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ยังมีการจัดการฝึกอบรมระดับนานาชาติในด้านต่างๆ เป็นประจำทุกปี สร้างความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อความร่วมมือด้านงานวิจัยและการอบรมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้รับความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำต่างๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง ทำการศึกษาและวิจัยด้านโรคมะเร็งร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นเครือข่ายการวิจัยร่วมกันและมีเป้าหมายเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติต่อไปในอนาคต [{{ :th:president:news:2014_news:2014_01_07_canada:003.jpg|ทรงฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารคณะระบบแผ่นดินและอาหาร มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และนักวิชาการ}}] ขณะเดียวกัน ทรงรับฟังการบรรยายทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในการพัฒนาสารฆ่าแมลงจากพืช ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจในการจัดการควบคุมและกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อการผลิตอาหารออร์แกนิค โดยเฉพาะสารฆ่าแมลงที่ผลิตจากสะเดาและดอกไพรีทรัม ได้รับการพัฒนาในการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งสารฆ่าแมลงที่สกัดได้จากพืชนี้มีความเหมาะสมมากที่สุดต่อการผลิตอาหารออร์แกนิคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับในการใช้ทดแทนสารดีดีที และสารประเภทออร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งมีพิษต่อร่างกายมนุษย์ ผลงานวิจัยด้านการควบคุมคุณภาพของวิตามินบี 9 ไม่ให้เสื่อมสภาพสำหรับการบริโภค การศึกษาถึงกลไกในการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารและสารพิษต่อร่างกายในสิ่งมีชีวิต การนำเสนอประวัติและผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยไวน์ ตลอดจนความสนใจปัญหาในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการในโลก การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นในการเสด็จครั้งนี้ ได้มาซึ่งองค์ความรู้และประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับสูงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้านความเป็นเลิศในด้านการเรียนการสอน และการวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยต่างๆ เพื่อการสร้างเครือข่ายในงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อไปได้