===== องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-26 กุมภาพันธ์ 2557===== [{{:th:president:news:2014_news:2014_02_14_china:1212.2.jpg?400|**ทรงมีพระปฎิสันถารกับ นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นายไช่ อู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจีน**}}]การเสด็จเยือนในครั้งนี้ **ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้ พระอาจารย์ฉาง จิ้ง และนายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนเฝ้า เพื่อทรงร่วมหารือเตรียมความพร้อมสำหรับการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ** ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ นายไช่ อู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจีนเข้าเฝ้า ซึ่ง นายไช่ อู่ ได้กราบทูลแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2556 และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและมิตรภาพระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมจากการที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการฝึกซ้อมกู่เจิง จนประชาชนชาวไทยและจีนได้ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี นอกจากนี้ ยังทรงนำดนตรีกู่เจิงไปเผยแพร่ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดมา ในการนี้ ทรงร่วมฝึกซ้อมการบรรเลงกู่เจิงกับพระอาจารย์ฉาง จิ้ง อยู่หลายครั้ง เพื่อทรงศึกษาเทคนิคการทรงกู่เจิงในขั้นสูง รวมทั้งการวางไหล่ แขน และนิ้วให้ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำให้เสียงของกู่เจิงไพเราะยิ่งขึ้น และเสียงที่ออกมาก็จะมีพลังมากขึ้นตามไปด้วย [{{:th:president:news:2014_news:2014_02_14_china:1313.jpg|**พระราชทานพรวโรกาสพระอาจารย์ฉาง จิ้ง เฝ้าถวายการสอนกู่เจิง**}}] องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทรงมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมกู่เจิง เพื่อทรงเตรียมความพร้อมในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน ซึ่งดนตรีถือเป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” อย่างหนึ่ง ที่มีพลังในการประสานความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น หากทั้งสองประเทศมีความเข้าใจในวัฒนธรรมซึ่งกันและกันแล้ว จะนำไปสู่ความเข้าใจทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่ด้านการทหาร