ภาษาไทย English language

องค์ประธานสถาบันฯ ทรงเยี่ยมและทรงติดตามการดำเนินงานหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช (17 มีนาคม 2552)

ศาตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังอาคารเอนกประสงค์ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 3 อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 1, 3 และ 4 ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ในการนี้ ได้พระราชทานสิ่งของแก่ผู้แทนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา แล้วทรงเยี่ยมราษฎร และหน่วยแพทย์พระราชทาน โดยราษฎรบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา เป็นผู้ที่อพยพมาจากบ้านกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจากประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรง ในปี 2531 และราษฎรที่อพยพมาจากบ้านคีรีวง รวมถึงผู้ยากไร้ในจังหวัดต่างๆ ที่ได้มีพระดำริให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีรายได้มั่นคง ตลอดจนร่วมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงความสมบูรณ์ โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการจัดสรรที่ทำกิน พร้อมทั้งการสาธารณสุข และสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 1 ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งนาเมืองชัย ตำบลท่ายาง จัดตั้งในปี 2532 ปัจจุบันมีราษฎร 102 ครัวเรือน 403 คน ประกอบอาชีพ ทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป, บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 3 ตั้งอยู่ที่บ้านหนองสามสิบ ตำบลกุแหระ มีราษฎร 100 ครัวเรือน 331 คน ประกอบอาชีพทำสวนยาง ปาล์มน้ำมัน เลี้ยงสัตว์ และขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด และบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4 ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดจวน ตำบลกุแหระ มีประชากร 98 ครัวเรือน 417 คน ประกอบอาชีพทำสวนยาง จักสานไม้ไผ่ปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ด

โดยทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมดำเนินการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ราษฎร เช่น การตั้งกลุ่มร่มฟ้าจุฬาภรณ์พัฒนาที่ 4 ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ, กลุ่มสตรีจุฬาภรณ์พัฒนา 3 แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวเกรียบสาหร่ายทะเล ดอกไม้ประดิษฐ์, และกลุ่มแม่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 1 ผลิตน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงหมูหลุม และเพาะพันธุ์ลูกปลา

นอกจากนี้ทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ และส่วนราชการ ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตรวมถึงการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน สำหรับเป็นแหล่งทุนให้ราษฎรประกอบอาชีพ ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 4,500 ถึง 10,000 บาทต่อเดือน


ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2552