====== เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ฟ้าทะลายโจร" ====== ==== ฟ้าทะลายโจร ==== ชื่อวิทยาศาสตร์ **//Andrographis paniculata// (Burm.f.) Nees** \\ วงศ์ **Acanthaceae** \\ ชื่ออื่น **ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน สามสิบดี คีปังฮี Kalmegh** \\ ส่วนที่ใช้ **ส่วนเหนือดิน หรือ ใบ ** \\ {{:announcement:articles:2009_articles:2009_07_29_fathalai:2009_07_29_fathalai_1.gif|}} \\ ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุก สูง 30-60 ซม. ทั้งต้นมีรสขม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ผลเป็นฝักสีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นสองซีก ดีดเมล็ดออกมา ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ ==== สารสำคัญ ==== ฟ้าทะลายโจรส่วนเหนือดิน จะมีสารสำคัญจำพวก ไดเทอร์ปีนแลคโตน (diterpene lactones) หลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide; AP1), นีโอแอนโดกราโฟไลด์ (neoandrographolide; AP4), ดีออกซีแอนโดกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide), 14-ดีออกซี-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide; AP3)) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป ในวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรที่ดี ควรจะมีปริมาณแลคโตนรวมคำนวณเป็น แอนโดรกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก ผงสมุนไพรฟ้าทะลายโจรควรจะมีสีเขียวเข้ม มีกลิ่นอ่อนและมีรสขมมาก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัยการปรับปรุงพันธุ์งา ในปี 2550 ได้งาดำพันธุ์ใหม่ที่ฝักไม่แตก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ขอพระราชทานชื่อจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ งาดำพันธุ์ใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า CM-07 ซึ่งให้ผลผลิตได้ถึง 360 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของงาทั่วโลก (75.8 กิโลกรัมต่อไร่) และในปีนี้ได้พัฒนางาขาวพันธุ์ใหม่ที่ฝักไม่แตกซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า CM-53 ได้ผลิตต่อไร่ 317 กิโลกรัม {{:announcement:articles:2009_articles:2009_07_29_fathalai:2009_07_29_fathalai_2.gif|}} \\ ==== ผลการศึกษาทางเภสัชวิทยา ==== การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดหรือสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางยาหลายประการ เช่น ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด (Husen et al., 2004; Dandu and Inamdar, 2009), ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Sheeja et al., 2006), ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันและยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง (Kumar et al., 2004), ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษหลายชนิด เช่น จากยาแก้ไข้พาราเซทตามอล หรือแอลกฮอลล์ (Visen et al., 1993; Singha et al., 2007) เป็นต้น ==== งานศึกษาวิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ==== ฟ้าทะลายโจรเป็นยาแผนไทยที่ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2542 โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ แต่ในปัจจุบันตามบัญชียาหลัก ฉบับปี 2549 ให้ใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ, บรรเทาอาการเจ็บคอและอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เป็นต้น จึงทำให้มีผู้นำ ฟ้าทะลายโจรมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรทำการปลูกฟ้าทะลายโจร ในพื้นที่โครงการทับทิมสยาม 05 จังหวัดสระแก้ว และได้นำตัวอย่างสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรนี้มาทำการศึกษาวิจัย ดังต่อไปนี้ * ศึกษาพัฒนาวิธีการสกัดและตรวจวิเคราะห์สารสำคัญแลคโตน ในตัวอย่างฟ้าทะลายโจร เพื่อทำการแยกสารสำคัญเหล่านี้ (โดยเฉพาะ AP1, AP3 และ AP4) สำหรับนำมาเป็นสารมาตรฐาน ในการวิเคราะห์สารสำคัญในสมุนไพร สถาบันฯได้ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ ในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งจะพบว่า ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีความแปรปรวนของสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดสูงมาก (รูปกราฟที่ 1) เช่น ตัวอย่างที่ 13 มีสาร AP1 สูงมาก ตัวอย่างที่ 1 มีทั้ง AP1 และ AP3 สูง ในขณะที่ตัวอย่าง 12 มีสารทั้ง 3 ชนิดต่ำที่สุด (Pholpana et al., 2004) {{:announcement:articles:2009_articles:2009_07_29_fathalai:2009_07_29_fathalai_3.gif|}} \\ * การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิด neuroblastoma SK-N-SH cells ในหลอดทดลอง พบว่า AP1 มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ดีกว่า AP3 และ AP4 ( AP1 > AP3 > AP4) โดย AP1 มีค่า IC50 = 4.90 µgM, AP3 มีค่า IC50= 40.69 µM และ AP4 มีค่า IC50 >100 µM (Thiantanawat et al., 2004) * เมื่อศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Thrombin พบว่า สาร AP3 จะสามารถยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือดได้ดีกว่า AP1 ในขณะที่ AP4 ไม่มีฤทธิ์นี้เลย นอกจากนี้ สารสกัดน้ำของ ฟ้าทะลายโจร ก็ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือดได้ดีด้วย (Thisoda et al., 2006) * จากการศึกษาฤทธิ์ในการลดความดันเลือด พบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรและสารสำคัญ มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดี และ AP3 จะเป็นสารที่ให้ฤทธิ์ดีที่สุดในการขยายหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจ (Yoopan et al., 2007) นอกจากผลการวิจัยข้างต้นนี้แล้ว ทางสถาบันฯ ยังได้ทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย (//Plasmodium falciparum//) ในหลอดทดลอง ซึ่งผลที่ได้พบว่า AP1 และ AP3 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียได้ดี ในขณะที่ AP4 จะมีฤทธิ์น้อยมาก เมื่อทำการทดสอบสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจร พบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า IC50 = 418.2 µg/ml ในขณะนี้สถาบันฯ กำลังทำการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันความเป็นพิษต่อตับของสารสำคัญ ในฟ้าทะลายโจร โดยที่ตับจะถูกกระตุ้นด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้พัฒนา วิธีการเตรียมสารสกัดฟ้าทะลายโจรชนิดผงแห้ง ที่มีสารสำคัญที่แตกต่างกัน ซึ่งได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรแล้วในปี 2548 [อนุสิทธิบัตร เรื่อง วิธีการเตรียมสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร (//Andrographis paniculata// (Burm.f.) Nees, Acanthaceae) และการใช้สารสกัดดังกล่าวในการผลิตผลิตภัณฑ์ อนุสิทธิบัตรเลขที่ 1862 ออกให้ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2548] และยังได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร ในการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจร มาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิวและเครื่องสำอาง เช่น สบู่เหลว แชมพู เป็นต้น ซึ่งอาศัยฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร [ยื่นจดอนุสิทธิบัตร 2549] ==== การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ==== จากการศึกษาในกลุ่มประชากรประเทศชิลี โดยให้ยาเม็ดสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาด 1200 มิลลิกรัม/วัน ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดเป็นเวลา 5 วัน พบว่า วันที่ 2 หลังได้รับยา ความรุนแรงของอาการอ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร จะน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และในวันที่ 4 ความรุนแรงของทุกอาการ ได้แก่ อาการไอ เสมหะ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหู นอนไม่หลับ เจ็บคอ ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรก็ยังน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (Cáceres et al., 1999) สำหรับการศึกษาทางคลินิกในผู้ที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเฉียบพลัน รวมทั้งกลุ่มอาการไซนัสอักเสบด้วย กลุ่มทดลอง 95 คน รับประทานยา Kan Jang [ประกอบด้วยสารสกัดมาตรฐานของฟ้าทะลายโจร 85 มก. (มี andrographolide 5 มก.) และสารสกัด Acanthopanax senticosus 10 มก.] ครั้งละ 4 เม็ด 3 ครั้ง/วัน กลุ่มควบคุมรับประทานยาหลอก โดยรับประทานยานาน 5 วัน วัดผลโดยให้คะแนนจากการประเมินอุณหภูมิ อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการแสดงทางคอ ไอ อาการแสดงทางจมูก ความรู้สึกไม่สบายตัว และอาการทางตา ผลการศึกษาพบว่า คะแนนรวมทั้งหมดของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยจะมีอาการปวดศีรษะ อาการทางจมูกและคอ รวมถึงความรู้สึกไม่สบายตัวลดลง ในขณะที่ยังมีไอและอาการทางตาไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม อุณหภูมิในกลุ่มทดลองจะลดลงปานกลาง (Gabrielian et al., 2002) นอกจากนี้การศึกษาเปรียบเทียบยา Kan Jang [ประกอบด้วยสารสกัดมาตรฐานจากฟ้าทะลายโจร และยาอื่น] และ Immunal [ประกอบด้วยสารสกัดจาก Echinacea purpurea] ร่วมกับการรักษาตามปกติ ในเด็กอายุ 4-11 ปี จำนวน 130 คน ที่เป็นหวัดไม่มีอาการแทรกซ้อน เป็นเวลา 10 วัน พบว่า การให้ Kan Jang ร่วมกับการรักษาตามปกติให้ผลดีกว่า Immunal และกลุ่มควบคุม โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีอาการระยะแรก อาการที่เห็นได้ชัดว่าบรรเทาลง คือ ลดน้ำมูก และลดอาการบวมคั่งในจมูก และไม่พบผลข้างเคียงของการใช้ยา ส่วน Immunal ไม่มีผลการรักษาดังกล่าว (Spasov et al., 2004) สำหรับการศึกษาในประเทศไทย วิษณุ ธรรมลิขิตกุลและคณะ ได้ทดลองเปรียบเทียบผลการรักษาอาการไข้และเจ็บคอของฟ้าทะลายโจร โดยเปรียบเทียบกับ พาราเซตามอล พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน มีอาการไข้และการเจ็บคอลดลง ในวันที่ 3 ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 3 กรัม/วัน หรือได้รับพาราเซตามอล 3 กรัม/วัน แต่หลัง 7 วัน ผลการรักษาไม่ต่าง (Thamlikitkul et al., 1991) **__ข้อควรระวัง__** (มาตรฐานสมุนไพรไทย เล่มที่ 1 เรื่อง ‘ฟ้าทะลายโจร'): ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่นในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร และให้เปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน นอกจากนี้ หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์ ==== บทสรุป ==== ในปัจจุบัน มีผู้นำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากได้มีการอ้างอิงถึงสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรในการรักษาหรือยับยั้งอาการต่างๆ ได้ดี ทั้งจากเอกสารการวิจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการรักษาโรคนั้น ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของสมุนไพรด้วย สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิด ก็จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น เตรียมวัตถุดิบฟ้าทะลายโจร โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การแปรรูป รวมถึงการเก็บรักษาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ก็อาจส่งผลให้ฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ในลักษณะผงหยาบ จะมีปริมาณสารสำคัญที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งก็จะทำให้ฟ้าทะลายโจรนี้ ให้ผลในการรักษาโรคไม่เหมือนกัน หรืออาจจะมีอาการข้างเคียงแตกต่างกันก็ได้ ซึ่งทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้ จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญต่างๆ ที่มีในฟ้าทะลายโจรที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อให้สามารถทราบปริมาณสารสำคัญเหล่านี้ที่แน่นอนในฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคดียิ่งขึ้น และผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเหล่านี้ ก็ควรจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และโลหะหนัก รวมถึงยาฆ่าแมลงเกินปริมาณมาตรฐานที่กำหนดไว้ของสมุนไพรด้วย นอกจากนี้ การออกฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจร ยังขึ้นอยู่กับการปลดปล่อยและการดูดซึมของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรเหล่านี้ จะสามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้ดีมากน้อยแค่ไหน การที่สารสำคัญเกิดการเปลี่ยนรูปเมื่อเข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลให้สารนั้น กลายเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ในการรักษาเลยก็ได้ ดังนั้น การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพดี จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณภาพวัตถุดิบ สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ หรือการนำส่งยา เป็นต้น ==== เอกสารอ้างอิง: ==== - มาตรฐานสมุนไพรไทยเล่มที่ 1 ฟ้าทะลายโจร โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ. 2542. - Thiantanawat, A., Watcharasit, P., Ruchirawat, P. Satayavivad, J. 2004. The 5th Princess Chulabhorn International Science Congress: Evolving Genetics and Its Global Impact. Bangkok, Thailand. August 16-20. โปสเตอร์เรื่อง “Modulation of cell cycle and apoptosis signaling by the three active diterpenoids from Andrographis paniculata NEES”. - Cáceres, D.D., Hancke, J.L., Burgos, R.A., Sandberg, F., Wikman, G.K. 1999. Use of visual analogue scale measurements (VAS) to assess the effectiveness of standardized Andrographis paniculata extract SHA- 10 in reducing the symptoms of common cold. A randomized double blind-placebo study. Phytomedicine. 6(4):217-23. - Dandu, A.M., Inamdar, N.M. 2009. Evaluation of beneficial effects of antioxidant properties of aqueous leaf extract of Andrographis paniculata in STZ-induced diabetes. Pak. J. Pharm. Sci. 22(1):49-52. - Husen, R., Pihie, A.H., Nallappan, M. 2004. Screening for antihyperglycaemic activity in several local herbs of Malaysia. J. Ethnopharmacol. 95(2-3):205-8. - Kumar, R.A., Sridevi, K., Kumar, N.V., Nanduri, S., Rajagopal, S. 2004. Anticancer and immunostimulatory compounds from Andrographis paniculata. J. Ethnopharmacol. 92(2-3): 291-5. - Pholphana, N., Rangkadilok, N., Thongnest, S., Ruchirawat, S., Ruchirawat, M., Satayavivad, J. 2004. Determination and variation of three active diterpenoids in Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees. Phytochem. Anal. 15(6):365-71. - Sheeja, K., Shihab, P.K., Kuttan, G. 2006. Antioxidant and anti-inflammatory activities of the plant Andrographis paniculata Nees. Immunopharmacol. Immunotoxicol . 28(1):129-40. - Singha, P.K., Roy , S., Dey, S. 2007. Protective activity of andrographolide and arabinogalactan proteins from Andrographis paniculata Nees. against ethanol-induced toxicity in mice. J. Ethnopharmacol. 111(1):13-21. - Spasov, A.A., Ostrovskij, O.V., Chernikov, M.V., Wikman, G. 2004. Comparative controlled study of Andrographis paniculata fixed combination, Kan Jang and an Echinacea preparation as adjuvant, in the treatment of uncomplicated respiratory disease in children. Phytother. Res. 18(1):47-53. - Thamlikitkul, V., Dechatiwongs, T., Chaipong, S., et al. 1999. Efficacy of Andrographis paniculata Nees. for pharyngotonsilities in adults. J. Med. Assoc. Thai. 74(10):537-42. - Thisoda, P., Rangkadilok, N., Pholphana, N., Worasuttayangkurn, L., Ruchirawat, S., Satayavivad J. 2006. Inhibitory effect of Andrographis paniculata extract and its active diterpenoids on platelet aggregation. Eur. J. Pharmacol. 553(1-3):39-45. - Andrographis paniculata fixed combination Kan Jang in the treatment of acute upper respiratory tract infections including sinusitis. Phytomedicine. 9(7):589-97. - Visen, P.K., Shukla, B., Patnaik, G.K., Dhawan, B.N. 1993. Andrographolide protects rat hepatocytes against paracetamol-induced damage. J. Ethnopharmacol. 40(2):131-6. - Yoopan, N., Thisoda, P., Rangkadilok, N., Sahasitiwat, S., Pholphana, N., Ruchirawat, S., Satayavivad J. 2007. Cardiovascular effects of 14-deoxy-11,12-didehydro-andrographolide and Andrographis paniculata extracts. Planta Med. 73(6):503-11. เผยแพร่ ณ วันที่ 29 กรกฏาคม 2552