====== ความคืบหน้า งานวิจัยสารหนูในข้าว ====== **สุมลธา หนูคาบแก้ว, ดร.นุชนาถุ รังคดิลก และ รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์**\\ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI) และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)\\ \\ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศฯ ได้ให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัย เรื่อง การตรวจวิเคราะห์สารหนูในข้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเก็บตัวอย่างข้าวจากจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ มาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังปริมาณสารหนูในข้าวเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และได้มีการเผยแพร่บทความที่ได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณสารหนูในข้าว ในวารสารต่างประเทศ และใน website ของศูนย์ความเป็นเลิศฯ และจากบทความ เรื่อง “ปริมาณของสารหนูในข้าว” ที่ได้เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ใน Website ของศูนย์ความเป็นเลิศฯ คณะผู้วิจัยได้เขียนรวบรวมงานวิจัยของประเทศอื่นๆที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสารหนูในข้าวและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งจากข้อมูลที่มีการศึกษาในต่างประเทศในพื้นที่ที่มีปริมาณสารหนูในธรรมชาติสูง อาจจะมีความเสี่ยงในการได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น เมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิดมากกว่าคนอื่นๆ ในตอนท้ายของบทความได้สรุปไว้ว่า งานวิจัยจากต่างประเทศนั้นพบว่า ตัวอย่างข้าวไทยมีปริมาณสารหนูน้อยกว่าข้าวจากประเทศอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจวิเคราะห์สารหนูในข้าว มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะสารหนูชนิดอนินทรีย์ ซึ่งจัดว่ามีความเป็นพิษสูงกว่าสารหนูชนิดอินทรีย์ และเป็นชนิดที่พบในข้าว จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาวิธีวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานและมีความถูกต้องแม่นยำ คณะนักวิจัยของเราได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูอนินทรีย์ในข้าวชนิดต่างๆ และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ในปี พ.ศ. 2556 ส่วนที่มีข่าวการปนเปื้อนสารหนูในข้าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เริ่มมีรายงานครั้งแรกจากประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเกิดจากการสูบเอาน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารหนู มาปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง โดยไม่มีการตรวจการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำใต้ดินที่สูบขึ้นมาใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งต้นข้าวเหล่านี้สามารถดูดซึมสารหนูเข้าไปในต้นได้ดีด้วย ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามศึกษาวิธีลดการปนเปื้อนของสารหนูในข้าวด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว จากรายงานของศาสตราจารย์ ดร. แอนดรูว์ มะ-ฮาร์ก และคณะ ที่รายงานในวารสาร PLOS One เมื่อเร็วๆนี้ (22 ก.ค. 2558) เป็นการวิจัยหวังผลเพื่อการแก้ปัญหาในการลดปริมาณสารหนูอย่างเร่งด่วน โดยเป็นวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดการปนเปื้อนสารหนูได้ 85% และได้มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว คาดว่าในอนาคตคงจะมีหม้อหุงข้าวในท้องตลาดชนิดที่ลดการปนเปื้อนสารหนูออกมาจำหน่าย และเนื่องจากว่าข้อมูลในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการตรวจวิเคราะห์สารหนูในข้าวสาร คณะนักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศฯกำลังทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีการหุงข้าวและตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในข้าวสุกที่รับประทานว่าจะมีความแตกต่างกันหรือไม่ สำหรับความเป็นพิษของสารหนูอนินทรีย์ ผลการวิจัยส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษาตลอดมามากกว่า 30 ปี เป็นการศึกษาวิจัยการปนเปื้อนในน้ำ สำหรับการปนเปื้อนสารหนูในข้าว เพิ่งมีรายงานการปนเปื้อนประมาณ 10 ปี จึงยังไม่มีการศึกษาการได้รับสารหนูที่ปนเปื้อนในน้ำและในข้าวว่ามีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่างกันอย่างไร ซึ่งตามทฤษฎีสารหนูในข้าวน่าจะถูกดูดซึมได้น้อยกว่า นอกจากนั้น ในข้าวยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม อาหารไทยมีสารต้านอนุมูลอิสระร่วมด้วย คนไทยไม่ได้บริโภคข้าวเพียงอย่างเดียว อาหารประเภทต่างๆ เช่น หมู ผัก เป็นต้น น่าจะมีผลต่อการดูดซึมสารหนูในข้าวเข้าสู่ร่างกายมากน้อยแตกต่างกัน และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง จากรายงานที่ว่าข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูมากกว่าข้าวขาวนั้น ขอให้ตระหนักว่าในข้าวกล้องหรือข้าวสีชนิดต่างๆนี้ ยังมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี สารแกมม่าโอริซานอล รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญๆ เช่น เหล็ก เป็นต้น มากกว่าข้าวขาวอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป ไม่ใช่ดูเฉพาะว่าในข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูมากกว่าเท่านั้น นอกจากนี้ ชนิดของข้าว (ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า) และสายพันธุ์ข้าว มีผลต่อการดูดซึมสารหนูเข้าสู่ต้นข้าวแตกต่างกัน ซึ่งคณะนักวิจัยของเรา กำลังทำการทดลอง เพื่อศึกษาว่าข้าวชนิดต่างๆมีการดูดซึมสารหนูจากดินปริมาณเท่าใด และอยู่ในรูปสารหนูชนิดใด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้ข้อมูลที่น่าสนใจพอจะสรุปได้ จากข้อมูลที่คณะนักวิจัยทำการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่า การปนเปื้อนของสารหนูอนินทรีย์ในตัวอย่างข้าวในประเทศไทย มากกว่า 98% ของตัวอย่างข้าวที่ตรวจ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ Codex Alimentarius Commission และคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ได้ประกาศไว้ ที่ 0.2 มก./กก. (สำหรับสารหนูอนินทรีย์ในข้าวขาวหรือข้าวขัดสี) นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศฯ กำลังดำเนินการศึกษาสายพันธุ์ข้าวที่คนนิยมบริโภคและเพี่อการส่งออก ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการศึกษาสายพันธุ์ข้าวที่ดูดซึมสารหนูน้อย เป็นการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีการปนเปื้อนสารหนูน้อยลง และเพื่อคัดเลือกสายพันธุข้าวไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม นำไปสู่การป้องกันการปนเปื้อนสารหนูจากธรรมชาติเข้าสู่ต้นข้าวต่อไป สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวจะต้องร่วมมือกันคือ การลดกิจกรรมทางการเกษตรที่เสี่ยงต่อการเพิ่มปริมาณสารหนูลงไปในระบบเกษตรกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดที่มีการปนเปื้อนสารหนูสูง หรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อาจมีส่วนประกอบของสารหนู เป็นต้น นอกจากนี้การร่วมกันพัฒนาวิธีการเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสม เพื่อลดการดูดซึมหรือสะสมของสารหนูในต้นข้าว กรรมวิธีการแปรรูปข้าวที่เหมาะสม หรือการปรับเปลี่ยนวิธีการหุงข้าว ก็เป็นขบวนการสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถช่วยลดปริมาณสารหนูที่สะสมในข้าวให้น้อยลงสำหรับการบริโภคอย่างปลอดภัย สำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก หรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการรายละเอียดข้อมูลการปนเปื้อนของสารหนูในข้าวชนิดต่างๆ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำ หรือดิน สามารถติดต่อได้ที่สำนักวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (คุณปิยพล มั่นปิยมิตร) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-553 8555 ต่อ 8207 และในขณะนี้ทางศูนย์ความเป็นเลิศฯก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO/IEC 17025 สำหรับการตรวจวิเคราะห์สารหนูรวม (Total arsenic) และสารหนูอนินทรีย์ (Inorganic arsenic) ในข้าวชนิดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค สร้างความมั่นใจให้แก่คุณภาพข้าวไทยทั้งภายในประเทศและการส่งออก ==== เอกสารอ้างอิง ==== - Nookabkaew S., Rangkadilok N., Mahidol C., Promsuk G. and Satayavivad J. Determination of Arsenic Species in Rice from Thailand and Other Asian Countries Using Simple Extraction and HPLC-ICP-MS Analysis. J. Agric. Food Chem. 2013, 61, 6991?6998. - Carey M., Jiujin X., Farias J.G., Meharg A.A. Rethinking Rice Preparation for Highly Efficient Removal of Inorganic Arsenic Using Percolating Cooking Water. PLOS One DOI:10.1371/journal.pone.0131608, July 22, 2015. - บทความ เรื่อง[[http://www.cri.or.th/en/download/newsletter_2015_04.pdf| "นักวิทยาศาสตร์เล่าเรื่อง ข้าว’ วารสารมูลนิธิจุฬาภรณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนเมษายน 2558 หน้า 18-22.]] - บทความ เรื่อง[[http://www.etm.sc.mahidol.ac.th/a27.shtml| ข้าวไทย...ปลอดภัยจากโลหะที่เป็นอันตราย ]](April 29, 2013) - บทความ เรื่อง[[http://www.etm.sc.mahidol.ac.th/a25.shtml| การปนเปื้อนสารหนูในข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว]] (September 27, 2012) \\ \\ เผยแพร่ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2558