====== พลาสติไซเซอร์ (Plasticizers): การปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์สู่อาหาร ====== ** อรุณศักดิ์ โสภณธรรมภาณ ** \\ นักวิชาการ สำนักวิชาการ \\ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพ {{:manual:examples:article:a1-1.gif |}}ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปได้พบสารปนเปื้อนในอาหารสำเร็จรูปจากประเทศไทยที่สูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะประเภทน้ำพริก เครื่องปรุงรส และอาหารที่มีไขมันสูง บรรจุลงในขวดแก้วและมีฝาโลหะปิด สารที่ปนเปื้อนลงในอาหารได้แก่สารพลาสติไซเซอร์ (plasticizers) ซึ่งมาจากปะเก็น (gasket) พลาสติกใต้ฝาปิดขวดแก้ว จึงได้มีคำเตือนมาถึงผู้ประกอบการในไทยหลายครั้งแล้ว และอาจกระทบต่อการส่งออกได้ในอนาคต หากผู้ประกอบการยังไม่มีการปรับตัว ((วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง. 2551. วศ.จัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์ที่ใช้ในปะเก็นพลาสติก [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.most.go.th/news/newsgov/default.asp?GID=1479 [29 ตุลาคม 2551])) พลาสติไซเซอร์ คือ สารเติมแต่ง (additive) ที่ใส่ลงในกระบวนการผลิตพลาสติกเพื่อทำให้มีสมบัติเปลี่ยนไปคือ มีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นสูง ทนต่อสภาวะความเป็นกรดด่าง ทนต่ออุณหภูมิสูง สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องมือทางการแพทย์ ของเล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น โดยสารเหล่านี้จะไม่ทำปฏิกิริยากับพลาสติกแต่จะไปแทรกอยู่ระหว่างโมเลกุลของพลาสติก ทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลอ่อนลง ((โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพื่อประเมินการปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์อาหาร. 2551. สารปนเปื้อนที่พบในบรรจุภัณฑ์พีวีซี [ออนไลน์]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. แหล่งที่มา: http://pack.cutip.net/foodcon/gen.php?page=13 [29 ตุลาคม 2551])) พลาสติไซเซอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมีหลายชนิด เช่น สารกลุ่มแธลเลต (phthalate) สารกลุ่มอะดิเพต (adipate) สารกลุ่มมาลีเอต (maleate) และน้ำมันพืชอิพ็อกซิไดซ์ (epoxidized vegetable oils) เป็นต้น ((Wikipedia Foundation Inc. 2008. Plasticizers [online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Plasticizer [28 October 2008] )) {{ :manual:examples:article:a1-2.gif|}}โดยทั่วไปพลาสติกที่ใช้ทำปะเก็นฝาปิดขวดแก้ว จะเป็นพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์ (polyvinylchloride: PVC) ซึ่งจะเติมสารพลาสติไซเซอร์ประมาณร้อยละ 25 – 45 โดยน้ำหนัก [[.article#fn_2|2) ]]((พิริยะ ศรีเจ้า . 2551. พลาสติไซเซอร์ อันตรายจากแผ่นปะเก็นใต้ฝาโลหะ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.navy.mi.th/science/pdf/bsp_1_2551_Plasticizer1.pdf [28 ตุลาคม 2551])),((Anja, F. N., and Koni, G. 2006. [[http://cat.inist.fr/?aModele=afficheN&cpsidt=17536074|Migration of plasticizers from PVC gaskets of lids for glass jars into oily foods: Amount of gasket material in food contact, proportion of plasticizers migrating into food and compliance testing by simulation.]] Trends in Food Science & Technology 17, pp. 105 – 112)) โดยพลาสติไซเซอร์ ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม แธลเลต และกลุ่มน้ำมันพืชอิพ๊อกซิไดซ์มากที่สุด สารที่เป็นปัญหาได้แก่ ไดเอทิลเฮกซิลแธลเลต (di-(2-ethylhexyl) phthalate, DEHP) ไดนอร์มอลบิวทิลแธลเลต (di-(//n//-butyl) phthalate, DnBP, DBP) ไดไอโซโนนิลแธลเลต (diisononyl phthalate, DINP) และน้ำมันถั่วเหลืองอิพ๊อกซิไดซ์ (epoxidized soybean oils, ESBO) ((สุภาณี หิรัญธนกิจจากุล. 2538. ความรู้เกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 10. กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร)) [[.article#fn_3|3) ]] เนื่องจากสารพลาสติไซเซอร์เหล่านี้ ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลกับพลาสติก แต่ไปแทรกอยู่ระหว่างโมเลกุลเท่านั้น เมื่อผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป ที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 100 – 130 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือถ้าอาหารเป็นกรดจะใช้ความร้อนไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส ((วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2551. ผักกระป๋อง [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.tistr-foodprocess.net/vegetable_can.htm [29 ตุลาคม 2551])) ทำให้สารพลาสติไซเซอร์สลายออกมาและเกิดการปนเปื้อนลงในอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากสารพลาสติไซเซอร์เป็นสารที่ละลายในไขมันได้ดี [[.article#fn_6|6) ]] สารพลาสติไซเซอร์เหล่านี้ จะไม่ทำให้เกิดอาการพิษอย่างเฉียบพลัน แต่เมื่อได้รับต่อเนื่องจะแสดงอาการพิษเรื้อรัง เป็นผลให้เกิดอาการเลือดออกในปอด (lung hemorrhage) ตับโต (hepatomegaly) เป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกาย (cytotoxicity) ทำให้เกิดมะเร็ง (carcinogenicity) เกิดการก่อกลายพันธุ์ (mutagenicity) อย่างไรก็ตาม ผลทางพิษวิทยาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีผลการศึกษาพิษวิทยาในมนุษย์โดยตรงแต่อย่างใด [[.article#fn_4|4) ]][[.article#fn_6|6) ]] กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของอาหารและบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ยังไม่ได้กำหนดถึงปริมาณการปนเปื้อนจากพลาสติไซเซอร์ แต่ก็ได้มีข้อบัญญัติว่าบรรจุภัณฑ์ต้องไม่มีสารใดออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ((สาธารณสุข, กระทรวง. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2528. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุ การใช้ภาชนะบรรจุ และการห้ามใช้วัตถุใดเป็นภาชนะบรรจุอาหาร [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.qmaker.com/fda/new/web_cms/subcol.php?SubCol_ID=46&Col_ID=9 [30 ตุลาคม 2551])) ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ได้มีการกำหนดให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปจะสามารถปนเปื้อนสารจากฝาของบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในอาหาร หรือ 10 มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร (mg/dm2) ของพื้นที่ผิวของฝาด้านที่สัมผัสอาหาร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นไป ยกเว้นสารกลุ่ม ESBO อนุโลมให้มีการปนเปื้อนในระดับไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในอาหาร จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เท่านั้น ((EUROPA food safety. 2008. Food contact material-Legislation on specific materials [online]. Available from: http://ec.europa.eu/food/food/chemicalsafety/foodcontact/spec_dirs_en.htm [30 October 2008])) โดยมีวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์สารในกลุ่มแธลเลตและกลุ่มอะดิเพตคือ ใช้วิธี GC-MS และวิธีในการวิเคราะห์สาร ESBO คือ GC-FID ((Kantonale Laber Zurich. 2008. Contamination of oily foods in glass jars from the gasket of the metal closure [online]. Available from: http://www.klzh.ch/downloads/info_plasticizers_gaskets.pdf [28 October 2008])) ((Maurus, B., Katelt, F., and Koni, G. 2008. [[http://cat.inist.fr/?aModele=afficheN&cpsidt=20141367|Testing migration from the PVC gaskets in metal closures into oily foods]]. Trends in Food Science & Technology 19, pp. 145-155.)) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีราคาสูงมากและมีในห้องปฏิบัติการในประเทศไทยไม่กี่แห่ง ที่ผ่านมาได้มีคำเตือนมายังผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 25 ครั้งแล้ว ((หนังสือพิมพ์มติชน. 2551. อียูย้ำเตือนไทยพบสารก่อมะเร็ง เปื้อนฝาน้ำพริกเผา-ซอสผัดไทย [ออนไลน์] . แหล่งที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lif01181051§ionid=0132&day=2008-10-18 [18 ตุลาคม 2551])) และอาจมีมาตรการที่รุนแรงขึ้น แต่เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์เองได้ ต้องส่งไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัวและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน โดยต้นปีหน้าจะมีหน่วยงานให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์ซึ่งจะช่วยลดเวลาและค่าจ่ายลงได้ [[.article#fn_1|1) ]] อย่างไรก็ตาม แนวทางในการจัดการปัญหานี้ควรพิจารณาถึงการลดการปนเปื้อนเป็นอันดับแรก เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยลดพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างปะเก็นกับอาหาร การพัฒนาพลาสติกทำปะเก็นโดยใช้สารพลาสติไซเซอร์ชนิดอื่นที่มีความปลอดภัยหรือตามที่มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนด หรือการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ เป็นต้น เพื่อให้อุตสาหกรรมของไทยยังคงดำเนินไปได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้อย่างยั่งยืน