Table of Contents

ภาษาไทย English language

งานวิจัยทางอินทรีย์เคมีเรื่องแรกจากประเทศไทย ในวารสาร Chemistry, A European Journal

คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ พัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารที่สามารถพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งได้สำเร็จ

การพัฒนาทรัพยากรบุคคล สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อการสร้างสังคมแห่งองค์ความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันระดับนานาชาติ

สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (Chulabhorn Graduate Institute; CGI) ได้เริ่มทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถสูงในการวิจัยและมีความเป็นผู้นำ เพื่อเป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ในขั้นแรกได้เปิดทำการสอน 3 หลักสูตร ปริญญาโทและเอก ได้แก่ หลักสูตรพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology) หลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ (Applied Biological Sciences: Environmental Health) และหลักสูตรเคมีชีวภาพ (Chemical Biology) ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรดังกล่าวมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ ที่จำเป็นต้องนำความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ในปัจจุบันมีนักศึกษาปริญญาเอก จำนวน 21 คน และปริญญาโท 50 คน

หลักสูตรเคมีชีวภาพเป็นการผสมผสานนำความรู้ทางด้านอินทรีย์เคมีมาใช้ในการศึกษาโจทย์วิจัยทางชีววิทยา ทั้งนี้องค์ความรู้ทางด้านอินทรีย์เคมีมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่น โพลิเมอร์ นาโนเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยา ดังนั้น การตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางด้านอินทรีย์เคมีชิ้นแรกที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่ทำจนเสร็จสิ้นในประเทศไทย จึงนับเป็นก้าวสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยโดยเฉพาะทางด้านอินทรีย์เคมี


งานวิจัยทางอินทรีย์เคมี

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยจากห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ สาขาเคมีชีวภาพ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสาร Chemistry, A European Journal ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งของโลก

วารสาร Chemistry, A European Journal ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดผลงานวิจัยระดับดีเยี่ยมทางด้านเคมี และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง วารสารดังกล่าวได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วและมีค่า impact factor ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้มาตรฐานวารสารระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (สูงสุด 5.454 ในปี ค.ศ. 2008) และเป็นวารสาร 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของวารสารที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยหลักทางด้านเคมี


งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น เป็นการพัฒนากระบวนการประยุกต์ใช้ กรดบนซิลิกา (immobilized acid on silica) เพื่อใช้ในการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สภาวะการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรง และให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะเจาะจง มีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เป็นของเสีย (by-products) ในปริมาณที่ต่ำ จึงเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากระบวนการอื่นๆที่เคยใช้มา

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสารประเภทฟลาวานอยด์ มีโครงสร้างหลักคล้ายกับสารที่เคยได้มีรายงานจากคณะวิจัยในบริษัทยาชั้นนำในต่างประเทศว่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งบางชนิดได้ เนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับสารชีวโมเลกุลเป้าหมาย เช่น เอสโตรเจนรีเซพเตอร์เบตา (estrogen receptor beta) ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม งานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นงานที่ท้าทายเนื่องจากยังไม่มีผู้ใดศึกษามาก่อน ทำให้งานวิจัยส่งผลกระทบต่อการสร้างองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งในระดับประเทศและเวทีโลก

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น หลังการก่อตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานและคุณภาพที่สูงของคณาจารย์ซึ่งดำรงตำแหน่งนักวิจัยที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ด้วย และแง่มุมสำคัญของการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Chemistry, A European Journal คือการที่งานวิจัยนี้ได้เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้นในประเทศไทย

นอกเหนือไปจากความสำเร็จดังกล่าวแล้ว ทางคณะวิจัยยังได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร ChemMedChem ในปี ค.ศ. 2009 เรื่องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารในกลุ่มลาเมลลาริน ซึ่งมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นสารต้านมะเร็งในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากงานมีความสำคัญและน่าสนใจ คณะผู้วิจัยจึงได้รับเกียรติให้ออกแบบงานศิลป์สำหรับปกด้านในของวารสารเล่มที่ตีพิมพ์งานดังกล่าว


งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยา และการบริหารจัดการสารเคมี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ทั้งนี้หากท่านมีความสนใจท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ดร. พูนศักดิ์ พลอยประดิษฐ์
(หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ดำเนินการวิจัยหลัก และผู้ส่งงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์)
สาขาวิชาเคมีชีวภาพ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
หรือ ห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
โทร. 02 574 0622 ต่อ 1411
E-mail: [email protected]

เผยแพร่ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2553