อรุณศักดิ์ โสภณธรรมภาณ
นักวิชาการ สำนักวิชาการ
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพ
ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปได้พบสารปนเปื้อนในอาหารสำเร็จรูปจากประเทศไทยที่สูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะประเภทน้ำพริก เครื่องปรุงรส และอาหารที่มีไขมันสูง บรรจุลงในขวดแก้วและมีฝาโลหะปิด สารที่ปนเปื้อนลงในอาหารได้แก่สารพลาสติไซเซอร์ (plasticizers) ซึ่งมาจากปะเก็น (gasket) พลาสติกใต้ฝาปิดขวดแก้ว จึงได้มีคำเตือนมาถึงผู้ประกอบการในไทยหลายครั้งแล้ว และอาจกระทบต่อการส่งออกได้ในอนาคต หากผู้ประกอบการยังไม่มีการปรับตัว 1)
พลาสติไซเซอร์ คือ สารเติมแต่ง (additive) ที่ใส่ลงในกระบวนการผลิตพลาสติกเพื่อทำให้มีสมบัติเปลี่ยนไปคือ มีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นสูง ทนต่อสภาวะความเป็นกรดด่าง ทนต่ออุณหภูมิสูง สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องมือทางการแพทย์ ของเล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น โดยสารเหล่านี้จะไม่ทำปฏิกิริยากับพลาสติกแต่จะไปแทรกอยู่ระหว่างโมเลกุลของพลาสติก ทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลอ่อนลง 2) พลาสติไซเซอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมีหลายชนิด เช่น สารกลุ่มแธลเลต (phthalate) สารกลุ่มอะดิเพต (adipate) สารกลุ่มมาลีเอต (maleate) และน้ำมันพืชอิพ็อกซิไดซ์ (epoxidized vegetable oils) เป็นต้น 3)
โดยทั่วไปพลาสติกที่ใช้ทำปะเก็นฝาปิดขวดแก้ว จะเป็นพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์ (polyvinylchloride: PVC) ซึ่งจะเติมสารพลาสติไซเซอร์ประมาณร้อยละ 25 – 45 โดยน้ำหนัก 2) 4),5) โดยพลาสติไซเซอร์ ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม แธลเลต และกลุ่มน้ำมันพืชอิพ๊อกซิไดซ์มากที่สุด สารที่เป็นปัญหาได้แก่ ไดเอทิลเฮกซิลแธลเลต (di-(2-ethylhexyl) phthalate, DEHP) ไดนอร์มอลบิวทิลแธลเลต (di-(n-butyl) phthalate, DnBP, DBP) ไดไอโซโนนิลแธลเลต (diisononyl phthalate, DINP) และน้ำมันถั่วเหลืองอิพ๊อกซิไดซ์ (epoxidized soybean oils, ESBO) 6) 3)
เนื่องจากสารพลาสติไซเซอร์เหล่านี้ ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลกับพลาสติก แต่ไปแทรกอยู่ระหว่างโมเลกุลเท่านั้น เมื่อผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป ที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 100 – 130 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือถ้าอาหารเป็นกรดจะใช้ความร้อนไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส 7) ทำให้สารพลาสติไซเซอร์สลายออกมาและเกิดการปนเปื้อนลงในอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากสารพลาสติไซเซอร์เป็นสารที่ละลายในไขมันได้ดี 6)
สารพลาสติไซเซอร์เหล่านี้ จะไม่ทำให้เกิดอาการพิษอย่างเฉียบพลัน แต่เมื่อได้รับต่อเนื่องจะแสดงอาการพิษเรื้อรัง เป็นผลให้เกิดอาการเลือดออกในปอด (lung hemorrhage) ตับโต (hepatomegaly) เป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกาย (cytotoxicity) ทำให้เกิดมะเร็ง (carcinogenicity) เกิดการก่อกลายพันธุ์ (mutagenicity) อย่างไรก็ตาม ผลทางพิษวิทยาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีผลการศึกษาพิษวิทยาในมนุษย์โดยตรงแต่อย่างใด 4) 6)
กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของอาหารและบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ยังไม่ได้กำหนดถึงปริมาณการปนเปื้อนจากพลาสติไซเซอร์ แต่ก็ได้มีข้อบัญญัติว่าบรรจุภัณฑ์ต้องไม่มีสารใดออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ8) ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ได้มีการกำหนดให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปจะสามารถปนเปื้อนสารจากฝาของบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในอาหาร หรือ 10 มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร (mg/dm2) ของพื้นที่ผิวของฝาด้านที่สัมผัสอาหาร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นไป ยกเว้นสารกลุ่ม ESBO อนุโลมให้มีการปนเปื้อนในระดับไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในอาหาร จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เท่านั้น 9) โดยมีวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์สารในกลุ่มแธลเลตและกลุ่มอะดิเพตคือ ใช้วิธี GC-MS และวิธีในการวิเคราะห์สาร ESBO คือ GC-FID 10) 11) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีราคาสูงมากและมีในห้องปฏิบัติการในประเทศไทยไม่กี่แห่ง
ที่ผ่านมาได้มีคำเตือนมายังผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 25 ครั้งแล้ว 12) และอาจมีมาตรการที่รุนแรงขึ้น แต่เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์เองได้ ต้องส่งไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัวและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน โดยต้นปีหน้าจะมีหน่วยงานให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์ซึ่งจะช่วยลดเวลาและค่าจ่ายลงได้ 1)
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการจัดการปัญหานี้ควรพิจารณาถึงการลดการปนเปื้อนเป็นอันดับแรก เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยลดพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างปะเก็นกับอาหาร การพัฒนาพลาสติกทำปะเก็นโดยใช้สารพลาสติไซเซอร์ชนิดอื่นที่มีความปลอดภัยหรือตามที่มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนด หรือการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ เป็นต้น เพื่อให้อุตสาหกรรมของไทยยังคงดำเนินไปได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้อย่างยั่งยืน