มูลนิธิคูริตะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มอบทุนวิจัย KWEF-AIT Research Grant ให้แก่อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระดับปริญญาเอก อายุไม่เกิน 40 ปี จากประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในปี 2016 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 คน โดยเป็นผู้รับทุนจากประเทศไทย จำนวน 8 ทุน เวียดนาม 5 ทุน และอินโดนีเซีย 5 ทุน แต่ละโครงการวิจัยได้รับเงินเป็นจำนวน 300,000 เยน
ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยชำนาญการประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับทุนวิจัยสำหรับโครงการวิจัย เรื่อง “เทคนิคตรวจวัดทางดีเอ็นเอเพื่อสืบหาแหล่งกำเนิดมลพิษจากสิ่งปฏิกูลจากชุมชนและฟาร์มสัตว์ที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ” ระยะเวลาโครงการ 1 ปี
พิธีมอบรางวัลทุนวิจัย KARG 2016 จัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในพิธีดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.Tjandra Setiadi จากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง นาย Hiroshi Saito ประธานมูลนิธิคูริตะ และศาสตราจารย์ Kadarsah Suryadi อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งบันดุง เป็นผู้กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศไทยที่ไปร่วมงาน คือ ศาสตราจารย์ ดร. Kazuo Yamamoto รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ศาสตราจารย์ ดร.จงรัก ผลประเสริฐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาติ เจียมไชยศรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการวิจัยของดร.ขวัญรวี สิริกาญจน เป็นการพัฒนาวิธีการตรวจวัดลำดับเบสดีเอ็นเอ เพื่อบ่งบอกแบคทีเรียบางกลุ่มที่อาศัยอยู่เฉพาะในลำไส้มนุษย์ และแบคทีเรียบางกลุ่มที่พบเฉพาะในลำไส้ของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มแต่ละประเภท ได้แก่ สุกร โค และสัตว์ปีก เป็นต้น แบคทีเรียดังกล่าวจะปนเปื้อนมากับสิ่งปฏิกูลและมูลสัตว์ การใช้เทคนิคพีซีอาร์และพีซีอาร์เชิงปริมาณทำให้จำแนกได้ว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำนั้น เกิดจากการปนเปื้อนของน้ำเสียจากชุมชนหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ประเภทใด และหากมีการปนเปื้อนจากแหล่งกำเนิดมากกว่าหนึ่งแหล่ง วิธีการนี้สามารถบ่งบอกได้ว่า การปนเปื้อนเกิดจากแหล่งกำเนิดใดมากกว่ากัน
เทคนิคที่พัฒนาขึ้นในโครงการวิจัยนี้ จะสามารถนำไปใช้ในการติดตามคุณภาพน้ำในแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ เช่น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำผิวดินเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าพารามิเตอร์โคลิฟอร์มที่เกินมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการผลักดันด้านนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้านเรือน และการจัดการของเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ งานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการส่งเสริมภารกิจของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน