สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ส่วนงานภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กำหนดจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Molecular and Clinical Aspects of Melatonin” ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมลาโทนินแก่ผู้เกี่ยวข้องในวงการวิทยาศาสตร์รวมทั้งผู้สนใจ ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของผู้เชี่ยวชาญด้านเมลาโทนินทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับประโยชน์ของสารเมลาโทนิน กล่าวคือเป็นอาหารสุขภาพที่แพร่หลายจนเป็นสินค้าขายดีอันดับต้นของสหรัฐอเมริกา ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์เมลาโทนินได้ทั้งที่สมองและส่วนอื่นๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้นการสร้างเมลาโทนิน ของร่างกายจะลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ ซึ่งคุณสมบัติของเมลาโทนินเป็นที่รู้จักกันดีคือช่วยปรับให้ร่างกายอยู่ในวงจรนาฬิกาชีวภาพที่สมดุล และที่สำคัญคือสามารถทำลายอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งและป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ แต่เมลาโทนินยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในเมืองไทย ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย สถาบันฯ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเมลาโทนินระดับโลกคือ Professor Russel J. Reiter จาก University of Texas Health Science Center, San Antonio สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำวิจัยเรื่องเมลาโทนินมากกว่า 50 ปี และมีผลงานด้านการเขียนหนังสือ เรื่อง “Melatonin” หนังสือขายดีอันดับต้นของอเมริกา รวมทั้งทำหน้าที่บรรณาธิการของวารสาร Pineal Research วารสารที่มี impact factor สูงกว่าระดับ 10 อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรชั้นนำจากหลากหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมลาโทนินมาให้ความรู้ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เป็นการพัฒนาทักษะด้านการวิจัยในเรื่องดังกล่าวสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ต่อไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการประชุมวิชาการครั้งนี้คือ คณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย พยาบาล นักวิชาการในแวดวงวิทยาศาสตร์ จากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งบุคลากรด้านการแพทย์ ด้านการสาธารณสุข ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัยระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยพัฒนาไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ชำระค่าลงทะเบียนอัตราพิเศษ สำหรับผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเมลาโทนินสามารถส่งบทคัดย่อได้จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 และนำเสนอเป็นโปสเตอร์ในวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2561
ประเภทผู้เข้าร่วมประชุม | ช่วงเวลาลงทะเบียน ตั้งแต่ มี.ค. – 31 พ.ค.61 | ช่วงเวลาลงทะเบียน ตั้งแต่ 1 มิ.ย. – 31 ก.ค.61 |
---|---|---|
บุคคลทั่วไปชาวต่างชาติ | 100 USD | 300 USD |
นิสิต นักศึกษาต่างชาติ | 80 USD | 100 USD |
บุคคลทั่วไปชาวไทย | 1,000.- บาท | 1,500.- บาท |
นิสิต นักศึกษาชาวไทย | 500.- บาท | |
บุคลากรหน่วยงานภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ | ได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียน |
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2554-1900 ต่อ 2138, 2144 หรือที่เว็บไซต์ melatoninbangkok2018.cgi.ac.th Email: [email protected]