english

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เสด็จเยือนสาธารณรัฐตุรกี ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๖

ศาตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเข้าร่วมการประชุมเคมีโลก ครั้งที่ 44 ของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC) ณ สาธารณรัฐตุรกี ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศในระดับภาคี มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเคมีในระดับสากล โดยให้ความร่วมมือด้านเคมีประยุกต์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ตามที่ทรงได้รับคัดเลือกและถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีสาขาเคมี ณ เครือรัฐเปอร์เตอร์ริโก ในปี พ.ศ.2544 ซึ่งนับเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดของนักเคมีสตรีของโลกรางวัลหนึ่ง โดยทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านวิจัยเคมีและด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และการศึกษา โอกาสนี้ทรงพระราชทานบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การค้นคว้าใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากทรัพยากรชีวภาพของไทย” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยค้นคว้าแยกสารจากเชื้อราในต้นไม้ โดยทรงยกตัวอย่าง เชื้อราที่เกิดในสมุนไพรไทย พบว่าหลังจากการสกัดและแยกทางกระบวนการทางเคมีแล้ว จะได้สารบริสุทธิ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มจำพวก ไตรไซคลิก โพลีคีไทด์ (Tricyclic Polyketide) ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน ทั้งนี้โดยทรงยกตัวอย่างงานวิจัยเพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากสัตว์ทะเล โดยทรงยกตัวอย่างจากฟองน้ำทะเลสีดำนำมาสกัดและแยกสารให้บริสุทธิ์ พบว่า ได้สารโครงสร้างใหม่ที่หลากหลายและมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีด้วย นอกจากเชื้อราและสัตว์ทะเลแล้ว ทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ยังได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสกัดหาสารบริสุทธิ์ในต้นไม้ โดยทรงยกตัวอย่างต้นไม้ไทยคือ ต้นปรู๋ ซึ่งแยกสารบริสุทธิ์ได้หลายชนิด ซึ่งใช้สารเคมีโครงสร้างแบบใหม่หลายตัว ที่ให้ผลทดสอบทางชีวภาพที่ดีอีกด้วย