องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 7-25 กรกฎาคม 2557

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงนำคณะผู้บริหารระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งคณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เข้ารับฟังการบรรยายการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สำคัญของสถาบันอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institute of Environmental Health Sciences/NIEHS) เมืองราลี รัฐนอร์ท แคโรไลนา โอกาสนี้ สถาบันอนามัยสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา ได้จัดคณะผู้ เชี่ยวชาญของสถาบันอนามัยสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา รวม 4 ท่าน กราบทูลรายงาน ถวายการบรรยายเกี่ยวกับงานและโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งด้านการศึกษา งานวิจัย และการประยุกต์งานวิจัยต่างๆ และ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบรรยายประวัติการก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งประกอบด้วย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์พื้นฐานเข้ากับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อันเป็นประโยชน์แก่คุณภาพชีวิต สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ มีนักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาทำการสอน เช่น จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสท สหรัฐอเมริกา ( เอ็มไอที) เป็นต้น รวมถึงการส่งนักศึกษาระดับปริญญาเอกไปทำงานวิจัย ในต่างประเทศ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ด้านมะเร็ง ที่มุ่งหวังให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งคนไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้ โดยทั้งสามสถาบันและหน่วยงานในเครือข่ายจะดำเนิน งานส่งเสริมและสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม <columns>

<newcolumn>

สำหรับการเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น นั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยโตเกียว ครั้งที่ 11 ซึ่งสมาชิกสภา ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียว จากประเทศต่างๆ จะเสนอแนะแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความเป็นเลิศในระดับสากล โดยหยิบยกประเด็นการเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ความเป็นสากล และความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อนำมาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียว ในการนี้ พระราชทานข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาชั้นสูง และจริยธรรมด้านการศึกษา โดยทรงเน้นถึงความสำคัญ และการศึกษาชั้นสูง ซึ่งจำเป็นต้องประกอบด้วยคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ควบคู่กับความรู้และการศึกษาที่ได้รับ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสอดแทรกเข้าไปในระบบการศึกษาและในการสอนด้วย ประโยชน์ที่ได้รับจากการประชุมสภาที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียวครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียวโดยตรงแล้ว สมาชิกสภาที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เข้าร่วมประชุม ยังสามารถนำความคิดเห็นที่ริเริ่มสร้างสรรค์ และประสบการณ์ด้านการศึกษาที่ดีและหลากหลาย ไปประยุกต์ใช้ และปรับปรุงการวางนโยบายที่เป็นสากลอย่างแท้จริง ตลอดจนรูปแบบการเรียนการสอน ในสถาบัน อุดมศึกษาของประเทศเพื่อก้าวทันยุคโลกาภิวัตน์ ได้อย่างกว้างขวาง จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงนำนักวิชาการและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เข้ารับฟังการบรรยายทางวิชาการ โดยศาสตราจารย์ ดร. ชิเกคิ มัทสึนากะ หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเล คณะบัณฑิตศึกษาวิทยาศาสตร์การเกษตรและสิ่งมีชีวิต มหาวิทยาลัยโตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ถวายรายงานเกี่ยวกับงานวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเลที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ทำวิจัยนี้ ได้มาจากตัวอย่างสัตว์ทะเล นำมาสกัดและทำให้บริสุทธิ์ด้วยกระบวน การทางเคมี จน ได้สารบริสุทธิ์หลายๆ ชนิด ประกอบไปด้วยสารที่เคยค้นพบมาแล้ว และสารชนิดใหม่ โดยที่สารเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์หาสูตรโครงสร้างด้วยวิธีทางเคมีต่างๆ ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่วิเคราะห์ได้นี้ จะถูกนำมาทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพต้านมะเร็งอีกด้วย ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงสนพระทัยงานวิจัยดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสอดคล้องกับงานวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเลของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อแสวงหาตัวชี้นำในการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ในการรักษา พระกรณียกิจสุดท้ายในการเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คือ ทรงนำคณาจารย์จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปยังศูนย์ส่งต่อสัตว์ป่วยแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Animal Referral Medical Center) เมืองคาวาซากิ เพื่อศึกษาดูการดำเนินงานของศูนย์ส่งต่อสัตว์ป่วยแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพันธกิจหลักคือการฝึกฝนสัตวแพทย์รุ่นใหม่ให้มีความสามารถเป็นผู้นำทางสัตวแพทย์ ศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังนำนวัตกรรมใหม่ๆ ทางคลินิก มีเครื่องมือการตรวจรักษาขั้นสูง อาทิ CT Scan 16 Slide MRI 1.5 Tesla, PET CT Scan, เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อรังสีรักษา มีห้องศัลยกรรมที่มีความทันสมัย โดยสามารถผ่าตัดหัวใจ ระบบกระดูกและข้อต่อ ห้องศัลยกรรมเนื้องอก ห้องศัลยกรรมตา และกล้องส่งตรวจ เป็นต้น นอกจากงานด้านการรักษาแล้ว ศูนย์ฯ ยังได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ทางคลินิกโดยการผลิตงานวิจัยทางคลินิกด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การเริ่มใช้เทคนิคภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้ในการรักษาสัตว์ป่วยโรคเนื้องอก เข้ามารักษาสัตว์ และให้การรักษาสัตว์ในระดับสูงแก่สัตว์ที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศญี่ปุ่น มีคลินิกเฉพาะทาง ด้านต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ โรคระบบประสาท โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เนื้องอก โรคตา โรคผิวหนัง ศูนย์ภาพวินิจฉัยและรังสีรักษา ทันตกรรม กายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู และวิสัญญีทางสัตวแพทย์ การเสด็จทอดพระเนตร การดำเนินงานของศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบ การณ์ด้านสัตวแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอน ตลอดจนพัฒนาความรู้ และพัฒนางานวิจัยทางคลินิกด้านต่างๆ อันจะส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งการปศุสัตว์และพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ การสัตวแพทย์ ตลอดจนงานด้านบริการรักษาสัตว์และงานอื่นๆ อีกด้วย