ในการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 17-26 มีนาคม พุทธศักราช 2558 ได้เสด็จไปยังองค์กรสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งองค์กรนี้เป็นหน่วยงานบริหารภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองและพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ มีหน้าที่หลักในการเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล รวมถึงให้การอบรมหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบ และบุคลากร ตลอดจนค้นคว้าวิจัยข้อมูลด้านการสาธารณสุข เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุข ปัจจุบันมีนายดันแคน เซลบี เป็นผู้บริหารขององค์กรสาธารณสุขอังกฤษ มีเครือข่ายด้านการควบคุมโรค การพัฒนาสุขภาพ การให้ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุข และศูนย์สาธารณสุขภูมิภาคและหน่วยจุลชีววิทยา
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบรรยายถึงการค้นคว้า และการทำงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พระราชทานแก่คณะผู้บริหารและนักวิจัย ของศูนย์วิจัยภัยจากพลังงานรังสีเคมีและสิ่งแวดล้อม (Centre for Radiation Chemical and Environmental Hazards) หรือ CRCE เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน ซึ่งพบว่ามีหลายแนวทางที่มีการดำเนินงานและผลงานวิจัยสอดคล้องกัน จึงทรงนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนามัยสิ่งแวดล้อม การรับสัมผัสกับสารเคมี หรือมลพิษในสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ มลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสารก่อมะเร็งหลายตัว และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นเวลายาวนาน จากนั้น ทรงบรรยายถึงการรับสัมผัสสารหนู ซึ่งเป็นสารที่เกิดตามธรรมชาติในน้ำใต้ดินของบางพื้นที่ หรือเป็นสารมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม
ในฐานะที่ทรงเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัย ได้ทรงศึกษาการรับสัมผัสสารเหล่านี้ในอากาศจากกลุ่มประชากรต่างๆ ได้แก่กลุ่มบุคคลที่ทำงานในบริเวณท้องถนน เช่น ตำรวจจราจร ที่ได้รับมลพิษจากไอเสียของรถยนต์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ปล่อยสาร PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ออกมาในบรรยากาศ ยิ่งกว่านั้น ทรงให้ความสำคัญต่อกลุ่มเด็กวัยเจริญเติบโต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคตได้สูงกว่าในกลุ่มของผู้ใหญ่ ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี โดยผลงานวิจัยที่ได้รับพบว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากหากได้รับสัมผัสสารหนูมาตั้งแต่แรกเกิด จนถึงเจริญวัยเป็นเด็กในระยะประถมวัยแล้ว เด็กเหล่านี้จะมีความด้อยในการซ่อมแซม ดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้ประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องติดตาม เฝ้าระวัง และลดการรับสัมผัสมลพิษ หรือสารเคมีให้มากที่สุด ซึ่งงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับงานของ ศูนย์วิจัยภัยจากพลังงานรังสี เคมี และสิ่งแวดล้อม หรือ CRCE ในด้านกลุ่มสารเคมี และกลุ่มที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ก่อให้เกิดโรคได้ภายหลัง ในการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรครั้งนี้ ได้ทรงหาแนวทางความร่วมมือด้านการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก พร้อมทั้งสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานวิจัย ที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพ ชีวิต ด้วยทรงตระหนักดีว่าปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก