หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องด้วยมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในวันพุธ ที่ 28 กรกฎาคม 2553 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงขอนำสรุปเนื้อหาการบรรยาย มาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้
หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักคือ
1. หลักคิด
- ปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้าน
- ภูมิสังคม ต้องคำนึงถึงภูมิประเทศของบริเวณนั้น และสังคมวิทยาของคนที่นั่น
- องค์รวม มีวิธีคิดอย่างองค์รวม มองอย่างครบวงจร และมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทาง แก้ไขอย่างเชื่อมโยง
- ยึดประโยชน์ส่วนรวม การทำเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เป็นการทำให้แต่เพียงผู้อื่นเท่านั้น แต่เป็นการทำเพื่อตนเองให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมที่อาศัยอยู่ได้
- การมีส่วนร่วม รู้จักเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น แม้กระทั่งคำวิพากษ์วิจารณ์และนำมาปรับใช้อย่างฉลาด
- เข้าใจความต้องการของประชาชน การให้ความช่วยเหลือประชาชน ต้องช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้
- รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเคารพความคิดที่แตกต่าง ใช้วิธีที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา ในการทำงาน รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้ที่จะได้รับประโยชน์และผู้ที่ต้องเสียประโยชน์
- การพึ่งตนเอง ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้แข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป และพัฒนาให้สามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และพึ่งตนเองได้ในที่สุด
- พออยู่พอกิน ต้องทำให้ตนเอง “พออยู่พอกิน” เสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป
- ปลูกป่าในใจคน การที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนรักธรรมชาติเสียก่อน
- รู้-รัก-สามัคคี เพื่อทำงานให้สำเร็จและเพื่อการคบหาสมาคมกัน
- การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุขน่าอยู่
- ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ
- ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง ควรให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ปฏิบัติงาน เพราะคนดี คนเก่ง จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
2. หลักวิชา
- ทำงานอย่างผู้รู้จริง ให้ศึกษางานที่จะทำให้ดี อย่าผลีผลาม ความรู้จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องขวนขวาย ต้องเก็บ บันทึกไว้ แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ “ความรู้” ต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ต้องรู้หมดและ รู้อย่างแท้จริง
- ไม่ติดตำรา ไม่ผูกมัดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง
- ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ในบางครั้งหากต้องการแก้ไขธรรมชาติ อาจใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ โดยให้ธรรมชาติเป็นผู้แก้ไขและฟื้นเอง ตามกาลเวลา
- ใช้อธรรมปราบอธรรม นำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ และแนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสียโดยดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ
3. หลักปฏิบัติ
- เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา การพัฒนาในด้านต่างๆ ต้องเข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจคน เข้าใจหลักปฏิบัติ และที่สำคัญ เราเข้าใจเขาและจะต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเราด้วย
- ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด การแก้ไขปัญหาให้ยึดหลัก ความเรียบง่ายและประหยัด ทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ มาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก
- อ่อนน้อม ถ่อมตน และประหยัด มีความอ่อนน้อม ถ่อมตนรู้จักใช้ของให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
- ทำให้ง่าย ทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย
- พิจารณาตามลำดับ การพัฒนาต้องเริ่มจากพัฒนาในสิ่งที่มีความจำเป็นสูงสุดก่อน และค่อยพิจารณาเรื่องอื่นตามมาเป็นลำดับ
- บริการที่จุดเดียว “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทั้ง 6 แห่ง เป็นต้นแบบในการบริหารรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ จะได้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว
- แก้ปัญหาที่จุดเล็ก มองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็กๆ คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม
- กาแฟต้นเดียว: ก้าวแรกที่กล้าก้าว เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาชาวเขา เพราะเมื่อมีการปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น มีเพียงกาแฟต้นเดียวเท่านั้นที่รอด แต่ถือว่าเป็นสิ่งดี ที่อย่างน้อยก็มี 1 ต้นที่รอด ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ทำอย่างไรให้กาแฟรอดมากกว่า 1 ต้น คือ ต้องมีความมานะพยายามจนผลสุดท้ายความเพียรสามารถปลูกกาแฟขายได้เงินจำนวนมาก
- ขาดทุนคือกำไร หลักการคือ “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไรคือ ความอยู่ดีมีสุข
- ความเพียร มีความมุ่งมั่นและความมีความตั้งใจในการทำงาน
- อดทน-มุ่งมั่น ให้รู้จักการอดทน ทำจนเป็นนิสัย ไม่ว่าสิ่งดีๆ ที่เข้ามา ทุกข์ที่เข้ามา สุขที่เข้ามา เราก็รับด้วยใจสงบ ไม่ตื่นเต้นหรือกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา
- ความตั้งใจจริงและมีความเพียร ทำงานต้องมีความตั้งใจ อย่าทำงานไปวันๆ ตั้งใจทำงานจะทำให้มีแรง มีกำลังใจ และต้องขยันหมั่นเพียร งานบางอย่างยาก แต่ก็ต้องฟันฝ่าไปให้ได้
- ทำงานอย่างมีความสุข การทำงานให้มีความสุข ควรเริ่มจากตนเองที่จะต้องมีความสุขกับงานที่ทำ และจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกมีความสุขไปด้วยที่ได้ทำงานร่วมกับเรา
ข้อคิดเห็นได้รับจากการเข้าฟังการบรรยาย
สามารถนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ดังนี้
- เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในหน่วยงานได้อย่างมีความสุข
- ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดความฟุ่มเฟือย รู้จักคำว่า “พอ” โดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
- มีความสุขและความพอใจกับงานที่ปฏิบัติ กับชีวิตที่พอเพียง ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต
- พยายามใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และชีวิตประจำวันอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
- ควรมีการวางแผนการทำงานประจำวันให้ดี โดยพิจารณาถึงงานที่ค้างจากวันก่อน งานที่ยังไม่เสร็จในวันนี้ และงานที่ต้องทำในวันต่อไป โดยให้มีการเขียนรายการของงานที่ต้องปฏิบัติลงในแผ่นกระดาษ หรือสมุดบันทึกประจำวัน ทั้งนี้ควรระบุให้ชัดเจน ว่ามีงานอะไรบ้างที่ต้องทำให้วันนั้นๆ
- ควรมีการบริหารเวลาโดยจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งในแต่ละวันมีงานหลายอย่าง ดังนั้น ควรจัดลำดับความสำคัญของงานว่าจะทำอะไร ก่อน – หลัง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับเวลา
เผยแพร่ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2553