ผลงานตีพิมพ์ของห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพได้รับรางวัล 2019 Best Paper Award จากวารสาร “Environmental Science and Technology Letters”
ผลงานตีพิมพ์ของห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับรางวัล 2019 Best Paper Award จากวารสารระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม “Environmental Science and Technology Letters” (2018 Impact Factor 6.934) โดยเป็น 1 ใน 5 บทความที่ได้รับการคัดเลือกจากบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ตลอดปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 123 บทความ ซึ่งบทความที่ได้รับเลือกแสดงความโดดเด่นและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
ผลงานที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นงานวิจัยเรื่อง “CrAssphage as a potential human sewage marker for microbial source tracking in Southeast Asia” โดย นายเอกชัย คงประจักษ์ ศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข และ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน
งานวิจัยนำเสนอการประยุกต์ใช้แบคเทอริโอเฟจ หรือ ไวรัสในแบคทีเรีย ที่เรียกว่า crAssphage เพื่อใช้ระบุการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ในแหล่งน้ำ แนวคิดการใช้จุลินทรีย์ที่จำเพาะในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อระบุแหล่งปล่อยมลพิษน้ำเสีย ที่เรียกว่า microbial source tracking (MST) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเสื่อมโทรม โดยมุ่งเน้นการจัดการและลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดได้อย่างแม่นยำ
ไวรัส crAssphage ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2557 ด้วยวิธีทางเมตาจีโนมิกส์โดยใช้โปรแกรม cross assembly ในผลงานของทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพได้ทดสอบหาปริมาณไวรัส crAssphage ด้วยวิธี quantitative polymerase chain reaction (qPCR) พบว่ามีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สำหรับใช้บ่งชี้การปนเปื้อนจากสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ในประเทศไทย
รายงานนี้เป็นรายงานแรกของประเทศไทยและเอเชีย งานวิจัยยังได้นำเสนอผลการใช้ไวรัส crAssphage ในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสามารถจำแนกแหล่งปล่อยมลพิษน้ำเสียจากชุมชนออกจากแหล่งกำเนิดน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างแม่นยำ
ผลจากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่า crAssphage มีความเหมาะสมในการใช้เพื่อจำแนกแหล่งปล่อยมลพิษซึ่งเป็นน้ำเสียจากกิจกรรมชุมชนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และสามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการมลพิษทางน้ำในแหล่งน้ำผิวดินของประเทศไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น ประโยชน์ของผลงานวิจัยนี้ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อความก้าวหน้าในวงการวิชาการทั่วโลก และสามารถนำไปประยุกต์เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นชุดทดสอบภาคสนามได้ในอนาคต
สามารถอ่านผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.estlett.9b00041