ผลงานวิจัยร่วมของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ University of Birmingham และ University of Nottingham ได้รับการคัดเลือกให้ลงหน้าปกวารสารด้านงานวิจัยมะเร็งระดับนานาชาติ “Cancer Research” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ผลงานวิจัยร่วมของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ University of Birmingham และ University of Nottingham ภายใต้โครงการวิจัย “ความสัมพันธ์ของ PRH/HHEX ในมะเร็งท่อน้ำดีและความเกี่ยวข้องต่อการลุกลามของโรคและการตอบสนองต่อยา” โดยทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (Thailand Research Fund) และ Medical Research Council (Newton Fund) ได้รับการตีพิมพ์ลงปกวารสาร Cancer Research (มีค่า impact factor ปี 2019 = 8.378) ซึ่งเป็นวารสารด้านงานวิจัยมะเร็งที่ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2563
โดยมีนักวิจัยร่วมโครงการจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายธุการวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา และนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยการเกิดมะเร็งจากสารเคมี ได้แก่ ดร.อัญญาภรณ์ สวัสดิชัย และ ดร.จอมณรงค์ เลิศสุวรรณ และจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ Dr. Sheela Jayaraman และ Dr. Simon Afford จาก University of Birmingham และ Professor Kevin Gaston จาก University of Nottingham
งานวิจัยมุ่งเน้นการศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์ของทรานสคริปชั่นโปรตีนที่มีชื่อว่า Proline Rich Homeodomain Protein หรือ PRH/HHEX ต่อมะเร็งท่อน้ำดี จากการศึกษาพบว่า โปรตีน PRH/HHEX เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยโปรตีนชนิดนี้ส่งเสริมการเจริญเติบโต และการเคลื่อนที่รุกรานของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี
เมื่อทําการลดการสร้างโปรตีน PRH/HHEX แบบถาวรด้วย ShRNA ในเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี (ยุโรป) ชนิด CCLP-1 พบว่า เซลล์มีการเจริญเติบโตที่ช้าลง การรุกรานลดลง และรูปร่างเซลล์เปลี่ยนไปคล้ายเซลล์ท่อน้ำดีปกติมากขึ้น และเมื่อใช้ siRNA เพื่อลดการสร้างโปรตีน PRH/HHEX แบบชั่วคราวในเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีทั้งของเอเชียและยุโรป HuCCA-1, RMCCA-1, KKU-M213, KKU055, และ CCLP-1 พบว่า เซลล์ดังกล่าวมีการรุกรานลดลง อีกทั้งพบว่าเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด CCLP-1 ที่มีระดับ PRH/HHEX ลดลงเจริญได้ช้าลงในหนูทดลอง และความสามารถในการสร้างก้อนมะเร็งก็ลดลงมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่า โปรตีน PRH/HHEX และ Notch signalling ในกระบวนการอักเสบ ส่งเสริมการแสดงออกซึ่งกันและกัน และส่งผลให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีมีการรุกรานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญการลดหรือเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน PRH จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโรคและการตอบสนองต่อยา โดยการที่มีโปรตีน PRH/HHEX ที่ต่ำจะทําให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีมีความทนทานต่อยา และสารที่ยับยั้งการเจริญได้มากกว่า เซลล์ที่มี PRH/HHEX สูง อาทิ เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี (ยุโรป) ชนิด CCLP-1 ที่มีโปรตีน PRH/HHEX ลดลง มีความทนทานต่อยาหลายชนิดมากขึ้น ได้แก่ CX-4945 และ AP1 ดังนั้น โปรตีน PRH นี้ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการพัฒนาแนวทางการรักษามะเร็งท่อน้ำดี (Potential Novel Target)
สามารถอ่านผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://cancerres.aacrjournals.org/content/80/4/757
และข่าวสารและกิจกรรมของ website สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ https://www.tsri.or.th/th/news/detail/โครงการวิจัยไทยตีพิมพ์ลงปกวารสาร-Cancer-Research-วารสารด้านงานวิจัยมะเร็งระดับโลก