องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ เสด็จเยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-14 เมษายน 2557
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันที่มีชื่อเสียงของสหราชอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาวิจัย
การวินิจฉัยโรคที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง ด้วยทรงห่วงใยถึงปัญหาโรคมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นที่คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นจำนวนถึง 84 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 70 จะเป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา และในขณะนี้ โรคมะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย การทรงแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันที่มีชื่อเสียงของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์โลก ที่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบในการรักษาโรคมะเร็ง ในการนำรูปแบบและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านั้นมาใช้กับผู้ป่วยอย่างเต็มรูปแบบ
การเสด็จในครั้งนี้ ทรงลงพระนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กับสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ เพื่อเป็นพื้นฐานของการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์การสาธารณสุขอังกฤษกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคนิค และความรู้ของทั้งสององค์กรในการปกป้องการสาธารณสุขจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ และการใช้เคมี ตลอดจนภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอื่นๆ โดยจัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในหัวข้อที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการสาธารณสุขในภาพรวม กรอบความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันประกอบด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ แห่งแคว้นเวลส์ ในส่วนของการประสานความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านสารเคมี การพัฒนาการสอนหลักสูตรการเรียน การฝึกอบรมทางไกล ในการประเมินความเสี่ยงจากสารเคมีด้านของการวางมาตรการควบคุมดูแลระบบการใช้สารเคมีการเฝ้าระวัง และในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาชนไทยโดยตรงแล้ว ยังจะช่วยลดปัญหาภัยคุกคามทางสาธารณสุข การป้องกันการเกิดโรคจากการรับสัมผัสสารเคมี ตลอดจนจากภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอื่นๆ ที่เวทีโลกมีความห่วงใย นอกจากนี้ นักวิจัยจากองค์กรสาธารณสุขประจำศูนย์วิจัยขององค์กรในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ยังให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในเรื่องการศึกษาผลกระทบของมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอากาศต่อสุขภาพของประชาชนในวัยต่างๆ ด้วย
ในการนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ เซอร์ อลัน แบตเตอร์สบี เฝ้า เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลการวิจัยด้านเคมี ซึ่งศาสตราจารย์ เซอร์ อลัน แบตเตอร์สบี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอินทรีย์แห่งภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และทรงเยี่ยมในฐานะที่เคยเป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษาทางการวิจัยด้านเคมีอินทรีย์ของพระองค์ เมื่อครั้งที่เสด็จมาทรงศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
โอกาสนี้ เสด็จไปยังราชสมาคมแห่งอังกฤษ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อทอดพระเนตรเอกสารและหลักฐานสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย นับเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ของราชสมาคม ซึ่งเป็นสมาคมทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และมีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก อันจะนำไปสู่ความสำเร็จทางการวิจัยและวิชาการระดับนานาชาติในอนาคต